ภาพลวงตาเปิดเสรี FTA สหรัฐฯคุมเข้มสินค้าทางปัญญา
โดย บิสิเนสไทย [3-4-2006]
ภาพลักษณ์ของคณะเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหรัฐฯ มี “ความไม่เชื่อถือ” ติดอยู่ตั้งแต่การเจรจายกที่ 6 ณ จ.เชียงใหม่ที่ผ่านมา เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ การุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ผู้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ (แทนทูตนิตย์ พิบูลสงคราม ที่ถูกกระแสสังคมกดดันหนักจนต้องลาออกไป) ให้ความสำคัญว่าจะต้องแก้ไขให้ได้ก่อน
ประจวบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังอึมครึมทำให้การเจรจารอบต่อไปกับสหรัฐฯ ต้องถูกยืดออกไปไม่มีกำหนดจนกว่าการเมืองของไทยจะลงตัว ซึ่งคงจะเป็นระยะเวลาที่มากพอสำหรับหัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ที่จะเรียกศรัทธากลับคืนสู่คณะเจรจาได้บ้าง เสริมกับเครดิตส่วนตัวของ “การุณ” เอง ที่เคยมีผลงานเป็นที่ยอมรับในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ยุคที่องค์การการค้าโลก (WTO) ยังอยู่ในสังกัดเดิมภายใต้ชื่อ แกตต์(GATT)
ถัดจากการกู้ภาพความน่าเชื่อถือแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เนื้อหาของการเจรจา ซึ่งหัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่กังวลมากที่สุดกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property:IP) และการบริการด้านการเงิน
“บิสิเนสไทย” ได้วิเคราะห์ในภาคตลาดการเงินของไทยไปแล้วใน FTA Series ตอนที่ 2 ว่าการเปิดเสรีภาคการเงินกับสหรัฐฯ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทุนไทยที่ต้องแข่งขันกับอเมริกันที่มีความได้เปรียบทั้งด้านเทคโนโลยีและเงินทุน
ในฉบับนี้ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย จึงขอนำเสนอมุมมองและผลที่จะเกิดกับทุกภาคส่วนของไทยในประเด็นเกี่ยวกับการค้าขายสิ่งที่เรียกว่า ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา และลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
สิทธิบัตรยาไทยสะเทือน!!
ในความเป็นจริงแล้วการพ่วงเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการเปิดเสรีการค้าการลงทุนนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน เพราะขณะที่จุดประสงค์ของการเปิดเสรีต้องการให้มีอุปสรรคระหว่างกันน้อยที่สุด แต่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามที่สหรัฐฯ เดินเกมนำกลายเป็นเรื่องที่จำกัดสิทธิ์ ขอบเขตการพัฒนาต่อยอดในหลายๆ ทางกับคู่เจรจาที่ด้อยกว่า
ผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับ IP ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ คอมพิวเตอร์โปรแกรม ชื่อทางการค้า ความลับทางการค้า แหล่งผลิตทางภูมิศาสตร์นั้น ถือเป็นหัวข้อหลักที่สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบกับประเทศคู่เจรจาเกือบทุกประเทศ เพราะอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้เป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำของสหรัฐฯ เทียบไม่ได้กับรายได้จากการส่งออกสินค้าของไทยที่มีไปยังตลาดสหรัฐฯ ความสำคัญของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้
สำหรับสหรัฐฯ เห็นได้จากความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายกับประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินปัญญาของอเมริกัน โดยมีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์นี้ด้วยการทบทวนการค้ากับประเทศคู่ค้าทุกปี หากคู่ค้ามีปัญหาเรื่องการละเมิดดังกล่าวมากก็จะมีมาตรการ Sanction กับคู่ค้า
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงติดอันดับรุนแรงถูก USTR ขึ้นบัญชีจับตามอง (Watch List) พร้อมจะตอบโต้ทางการค้าอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐฯ จะหมายมั่นปั้นมือกับหัวข้อความตกลงนี้เป็นพิเศษ
สถานะการเจรจา
ภาพรวมของการเจราจาด้าน IP มองด้านเป้าหมายแล้วสหรัฐฯ ต้องการยกระดับความคุ้มครอง IP ของไทยให้เท่าเทียมกับสหรัฐฯ (แต่ในความเป็นจริงกดดันให้ไทยมีกฎหมายที่เข้มกว่ากฎหมายสหรัฐฯ ดูล้อมกรอบ) และให้ความความคุ้มครองยา
ขณะที่เป้าหมายของไทยต้องการยกระดับความคุ้มครอง IP ของไทยให้เหมาะสมกับระดับการพัฒนาประเทศ และพัฒนาการสร้างสรรค์ IP ของไทย
ประเด็นสำคัญของการเจรจาด้าน IP ที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้สรุปไว้ มี 5 ประเด็น
1.การยกระดับความคุ้มครอง–ข้อเรียกร้องสหรัฐฯ ต้องการขยายอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปี เป็น 70 ปี, ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง และการให้ ความคุ้มครองสัญญาณดาวเทียมเพื่อป้องกันการละเมิดงานลิขสิทธิ์
สถานะเจรจาในประเด็นนี้อยู่ระหว่างต่อรองยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสำคัญประเด็นนี้มาก โดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์
2.ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย – ข้อเรียกร้องสหรัฐฯ เน้นควบคุมการผลิต CD โดยใช้ระบบการขออนุญาต, ให้อำนาจศุลกากรในการตรวจจับกรณี Tranship,Transit พร้อมขอให้ตำรวจมีอำนาจดำเนินคดีโดยไม่ต้องมีผู้ร้องทุกข์, ให้ศาลในคดีแพ่งสั่งยึด จับ อายัด และทำลายของกลาง และให้มีการกำหนดความเสียหายทางแพ่งล่วงหน้าไว้ในกฎหมาย
สถานะเรื่องนี้อยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง บางประเทศมีการเห็นชอบร่วมกันในหลักการ ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมาย CD และอำนาจของศาลในคดีแพ่ง
3.การคุ้มครองพืช สัตว์และพันธุ์พืช–สหรัฐฯต้องการให้คุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์ และให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ทุกชนิด ภายใต้สนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991)
สถานะการเจรจา สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอ เมื่อ 11 ม.ค.2549 ยังไม่มีการเจรจา แต่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้โดยเฉพาะการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV 1991
4.การคุ้มครองยา–สหรัฐฯ ให้ชดเชยเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยากรณีที่มีความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและขึ้นทะเบียนตำรับยา, ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรแก่การวินิจฉัยและรักษาโรคในมนุษย์และสัตว์ รวมถึงจำกัดการใช้ Compulsory Licensing และคุ้มครองข้อมูลยาเป็นเวลา 5 ปี
สถานะการเจรจาสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอ เมื่อ 11 ม.ค. 2549 ยังไม่มีการเจรจา สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้โดยเฉพาะการคุ้มครองข้อมูลยา
5.ข้อเรียกร้องฝ่ายไทย–ประเด็นคือการยกระดับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสินค้าไทย เช่น ข้าวไทย ไหมไทย และให้มีมาตรการป้องกันปัญหา Biopiracy โดยให้มีระบบการขออนุญาตก่อนใช้ประโยชน์ การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น รวมถึงให้มีกลไกควบคุมโดยเชื่อมโยงกับระบบสิทธิบัตร
สถานะเจรจาเรื่องนี้อยู่ระหว่างการต่อรอง สหรัฐฯ ยอมรับหลักการขออนุญาตก่อนใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์โดยไม่ให้เกี่ยวข้องกับระบบสิทธิบัตร
วิพากษ์เจรจาไม่โปร่งใส
ผลจากการเจรจาในประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมาจำนวนมากโดยเฉพาะในมุมที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียมากกว่าการได้มา กระทบโครงสร้างไม่เฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องยา และพันธุ์พืช
นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ เห็นว่า การเจรจาเปิดเสรีการค้า (FTA) ไทย-สหรัฐฯ ขาดความโปร่งใสตั้งแต่กระบวนการเจรจา วิธีการเจรจา และเนื้อหาของการเจรจาด้วย
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า กระบวนการทำ FTA ของไทยเหมือนไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ เพราะว่า เวลาได้ถามข้อมูลของทีมเจรจา หรือถามจุดยืนของไทยในการเจรจาว่า คืออะไร ก็ไม่ได้รับคำตอบ
หากไปเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ กระบวนการของสหรัฐฯ จำเป็นต้องเตรียมการ เพราะต้องเสนอกรอบการเจรจากับรัฐสภาก่อน ทำให้ต้องมีการเตรียมการว่า จะเจรจาเรื่องอะไร
การที่เราไม่มีกระบวนการต้องผ่านรัฐสภา ทำให้ทุกอย่างอยู่ในมือผู้บริหาร การตัดสินใจก็เป็นการตัดสินใจเอง ไม่มีข้อมูลมาสนับสนุน กระบวนการไม่เอื้อให้มีการเตรียมการที่ดีพอ และมีความพร้อมเพียงพอ อีกทั้งไม่ใช่เป็นการเตรียมการที่ถาวร
เมื่อจะมีการเจรจา ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล และคณะเจรจาชุดหนึ่งก็เจรจากับประเทศหนึ่ง และการเจรจากับแต่ทีมงานที่ดูแลหมวดสินค้าก็คนละทีมกัน อาทิ ทีมเกษตรไทย-สหรัฐฯ กับทีมเกษตรไทย-ญี่ปุ่น เป็นคนละทีมกัน ข้อมูลจึงขาดความเชื่อมโยง ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของทีมเจรจาก็ขาดความต่อเนื่อง กระบวนการเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถวางจุดยืนของประเทศได้ชัดเจน
ทีมเจรจาจึงควรแบ่งตามหมวดสินค้า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับประเทศที่เจรจา เพราะดูแล้วตลก และภาคประชาชนเองก็ขาดการมีส่วนร่วม
ขาดการมีส่วนร่วม
รศ.ดร.จิราพร เห็นว่า หากกระบวนการเจรจาผ่านรัฐสภา ก็เหมือนผ่านตัวแทนของประชาชน และอีกส่วนหนึ่ง คือ ผ่านองค์กรชาวบ้าน ก็ถือว่า เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ขาดการมีส่วนร่วมทั้ง 2 ส่วน
ต่างกับสหรัฐฯ ที่ได้ศึกษารายละเอียดมาอย่างดีก่อนที่จะมาเจรจากับเรา แม้จะมีการจัดเวทีพูดคุยแต่ก็เหมือนเวทีการชี้แจงถึงความจำเป็นของการทำ FTA เชิญไปร่วมประชุมด้วย ก็ไม่รู้ว่า สหรัฐฯต้องการอะไร เราต้องการอะไร และไม่ได้เปิดให้ต่อเนื่อง ซึ่งทีมเจรจาจะต้องบอกว่า สหรัฐฯ ต้องการอะไร เพื่อจะได้ศึกษา แต่กระบวนการนี้ไม่มี
“น่าเสียดาย ที่ไม่มีตรงนี้ เพราะทำให้เราเสียเปรียบ โดยเฉพาะกับประเทศใหญ่ เขารู้ว่า เราอ่อนแอด้านไหน รู้ว่า เขาจะได้ประโยชน์จากเราตรงไหน แต่เราไม่รู้เลยว่า ต้องการอะไร เราจึงได้เห็นภาพการประท้วงที่เชียงใหม่”
เธอระบุด้วยว่า การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ 6 ครั้งที่ผ่านมา ประชุมที่สหรัฐฯ 4 ครั้ง และประชุมในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งการเดินทางไป เราต้องเสียค่าใช้จ่าย และข้อมูลต่างๆ ก็นำไปได้ไม่มาก มีข้อจำกัดในการขนส่ง และการมีส่วนร่วมก็เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องตลก ความจริงน่าจะสลับการประชุม เห็นได้ชัดว่าเราเสียเปรียบตั้งแต่ต้น
แทคติคล่อเอาของใหญ่
สำหรับเนื้อหาการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเลย จนมาถึงการเจรจาครั้งที่ 6 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแทคติคการเจรจาของสหรัฐฯ ที่ใช้เจรจากับทุกประเทศ และใช้ในการเจรจากับประเทศไทย จะนำเรื่องที่ประเทศไทยเสียเปรียบจะไม่ได้เลย เป็นเรื่องประชุมสุดท้าย แต่เรื่องไหนที่คู่เจรจาได้เปรียบเขาจะเจรจาก่อน เพื่อทำให้เห็นว่า ได้ใช้ความพยายามมา 7 ปี เสียค่าใช้จ่ายไปมากแล้ว ถ้าเรื่องนี้ไม่ยอม ก็เหมือนกับปิดการเจรจา การเจรจาที่ผ่านมาก็สูญเปล่า
“เขาจะนำเรื่องที่ยาก ที่คิดว่าคู่เจรจาจะไม่ยอมมาเจรจาไว้ท้ายสุด ปิดการเจรจา เป็นการต่อรองว่า สหรัฐฯ ให้มาเยอะแล้ว ทำไมไทยไม่ให้บ้าง เป็นจิตวิทยาธรรมดา ซึ่งเรื่องยา เขามาขอเจรจาทีหลัง เพราะตั้งใจจะจบ”
รศ.ดร.จิราพร ซึ่งติดตามการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน กล่าวว่า ประเด็นของยา เชื่อมโยงกับสิทธิบัตรยา เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการเป็นการค้าที่ผูกขาดตามกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งครอบคลุมทรัพย์สินทุกอย่าง ทั้งเรื่องยา สินค้าทุกสินค้า ในสิทธิบัตรยา มีเยอะมาก ตั้งแต่ Process Patent หรือสิทธิบัตรกรรมวิธีผลิตยา ซึ่งรวมทั้งกรรมวิธีผลิตตัวยา วัตถุดิบยา (สารเคมีที่จะผลิตยา) ซึ่งนำมาผสมเป็นเม็ดยา ทุกอย่างสามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้
อุตฯ ยาไทยล้มระนาว
ในประเทศไทยกฎหมายสิทธิบัตรประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งคุ้มครองในส่วนกรรมวิธี แต่ไม่ให้ในส่วนผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง ยาแอสไพริน บริษัทที่คิดค้นแอสไพรินได้ แต่จะมาจดสิทธิบัตรแอสไพรินไม่ได้ หมายถึงจดสิทธิบัตรยาที่เป็นแอสไพรินไม่ได้ อาจจะจดกรรมวิธีทำ จดสิทธิบัตรวัตถุดิบได้ แต่มาเคลมตัวยา หรือ Product Patent ไม่ได้
ถ้าหากกฎหมายสิทธิบัตรยอมให้จดก็ Product Patent ก็หมายถึงว่า แม้มีกรรมวิธีการผลิตอื่น ก็ไม่สามารถผลิตตัวยานี้ได้ แปลว่า ไม่ว่าจะใช้กรรมวิธีใดก็ผลิตตัวยานี้ไม่ได้ ถือเป็นการผูกขาดอย่างสมบูรณ์ และไม่เปิดโอกาสให้มีเทคโนโลยีอื่นเกิดขึ้นในประเทศ
“อุตสาหกรรมยา แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น คือ ถ้าเราให้จดสิทธิบัตร Product Patent ก็จะไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งอุตสาหกรรมยาในเมืองไทย เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ เรานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาทำเม็ด เราจึงมีการวิจัยและพัฒนารูปแบบการทำเม็ดยา เพื่อผลิตยามาออกมาฤทธิ์ในการรักษา”
ทั้งนี้ สหรัฐฯได้กดดันขอจดสิทธิบัตรตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2528 แต่เรามาแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2535 ให้สามารถจดได้ ในขณะที่ประเทศอินเดียไม่ยอมแก้ จนมาถึงปี 2548
ก่อนปี 2535 ไทยมีศักยภาพในการผลิตยา แต่พอมีการแก้ไขสิทธิบัตรยา ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องรอให้ครบอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร คือ 20 ปี จึงจะผลิตได้ ทำให้ไม่ผลิตยาใหม่ๆ ออกมาได้ ตลาดยาใหม่จึงไม่เกิด
เราจะผลิตได้เฉพาะยาเก่าที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้ว ทำให้แย่งตลาดกันก็ตายกันหมด ก่อนปี 2535 เรามีโรงงานผลิตยา 400 โรง แต่หลังปี 2535 เราเหลือโรงงานผลิตยาประมาณ 100 โรง สัดส่วนการนำเข้ากับการผลิตในประเทศ ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท ก่อนปี 2535 มีสัดส่วนการผลิตในผลิตในประเทศกับนำเข้า 50:50 แต่หลังปี 2535 เหลือ ผลิตในประเทศต่อการนำเข้า 30-40:60-70
ถ้าเป็นจำนวนรายการยานั้น ยาในประเทศราคาถูก รายการจึงเยอะกว่า แต่ปัจจุบันรายการผลิตลดลงมาเยอะ ประมาณ 30% กว่า ไปเพิ่มให้กับยานำเข้า และจะค่อยๆ ลดลงอีก โรงงานใหญ่ๆแต่เดิม ก็ไปผลิตยาใหม่ แต่ตอนหลังผลิตไม่ได้ ต้องกลับไปผลิตยาเก่า ก็ไปแย่งตลาดโรงงานเล็กๆ ก็อยู่ไม่ได้
ได้คืบรุกเอาศอก คนไทยใช้ยาแพง
สภาพอุตสาหกรรมยาในประเทศ ย่ำอยู่แล้วในขณะนี้ แต่ในการเจรจา FTA สหรัฐฯ ต้องการมากกว่านี้ โดยในการจดสิทธิบัตร จำเป็นต้องส่งเอกสารมาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาว่า จะได้รับอนุญาตให้จดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา สหรัฐฯ จึงขอว่า ถ้าล่าช้าจากการพิจารณา ต้องชดเชยอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปด้วย หากอนุมัติช้า 3 ปี ก็ต้องชดเชยให้ 3 ปี รวมเวลาคุ้มครอง 20 ปี ก็เป็น 23 ปี
“เหมือนกับสหรัฐฯ ขอยืดอายุสิทธิบัตร โดยทางอ้อม ขอขยายอายุสิทธิบัตรโดยอ้างความล่าช้า ผลกระทบที่ตามมา ก็คือ ทำให้การผูกขาดตลาดยาวนานขึ้น ซึ่งการผูกขาดยาแพงแน่นอน เมื่ออายุสิทธิบัตรยายาวขึ้นอุตสาหกรรมยาก็ตาย”
สหรัฐฯ ยังขอการผูกขาดข้อมูล คือ การขึ้นทะเบียนตำหรับยากับอย. จะต้องมีข้อมูลการทดลอง ให้เห็นว่า ยานั้นปลอดภัย ต้องแสดงต่ออย. บริษัทก็ขอให้ อย.ผูกขาดข้อมูลไม่ให้รายอื่นมาขึ้นทะเบียนยา โดยขอเวลา 5 ปี
สมมติว่า ยาที่มาขึ้นทะเบียน เป็นยาหมดสิทธิบัตร เมื่อเขามาขึ้นทะเบียน ก็ไม่ให้รายอื่นมาขึ้นอีก 5 ปี ทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศผลิตไม่ได้อีก 5 ปี
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทยต้องใช้ยา แพง ตัวอย่างยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาเชื้อราในสมอง ราคาผิดกันเป็น 10 เท่าในประเทศเม็ดละ 10 กว่าบาท แต่ยานำเข้าราคา 100 กว่าบาท แม้เป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วก็ตาม
ดังนั้น ยาที่ยังมีสิทธิบัตร ก็ต้องแพงกว่า หรืออย่างยามะเร็งใหม่ๆ ราคาโดส (Dose) ละเป็นแสน
“ประเทศจะอยู่ได้อย่างไรถ้าเป็นอย่างนี้ เพราะสินค้ายา เป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้ ราคาคุณสูงเท่าไหร่ ก็ต้องใช้ ไม่ได้สะท้อนว่า ราคาสูงแล้ว ไม่ใช้ ถ้าเราเซ็น FTA ยอมขยายอายุ ราคายาที่จะถูกก็ยังแพงไปอีกนาน โอกาสที่อุตสาหกรรมในประเทศผลิตก็ยิ่งช้าไป ยาราคาถูกจะออกสู่ตลาดช้าลง การแข่งขันจะไม่มี จะมีแต่ยานำเข้า ผลทำให้อุตสาหกรรมในประเทศอ่อนแอลง เพราะผลิตยาไม่ได้”
ขณะเดียวกัน เกี่ยวกับยา มีระบบช่วย เยียวยา กรณีเช่น มีการผูกขาดตลาดมากจนยาราคาแพงมาก หรือยาขาดตลาด จะมีมาตรการการบังคับใช้สิทธิ์ อุตสาหกรรมอื่นอาจมาขอใช้สิทธิ์เพื่อผลิตยาตัวนี้ แล้วมีการจ่ายค่าลอยัลตี้ของยอดจำหน่าย หรือรัฐบาลอาจใช้สิทธิ์ผลิต และจ่ายค่าลอยัลตี้ แต่สหรัฐฯ ขอว่า มาตรการเยียวยาฉุกเฉิน สามารถใช้ได้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น เป็นการจำกัดการใช้กฎหมายสิทธิบัตร
“กรณีนี้ ถือว่า อันตราย หากเกิดโรคระบาด หากอย.ให้ขึ้นทะเบียน รายอื่นก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตยามาแก้ปัญหาได้ หากอย.ไปขึ้นทะเบียนยาอื่น เขาก็ฟ้องร้องรัฐได้เรียกร้องค่าโง่”
ที่สำคัญการเซ็นสัญญา FTA ก็จะต้องมาแก้กฎหมายสิทธิบัตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่า ไม่ต้องแก้ แต่จริงๆ แล้วต้องแก้ตามที่เซ็นสัญญา
นอกจากสิทธิบัตรยา สหรัฐฯ ยังขอ สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค ต่อไปแพทย์ไทยจะวินิจฉัยโรคให้คนป่วยก็ต้องจ่ายเงิน สิทธิบัตรวิธีการผ่าตัด เป็นสิ่งที่เขาขอเพิ่มขึ้น
สหรัฐฯ ยังต้องการให้เราคุ้มครองสิทธิบัตรตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ต่อไป หากสหรัฐฯ นำพืชพื้นบ้านของไทยไปดัดแปลงยีน แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถนำ มาจดสิทธิบัตรได้ ต่อไปก็คงต้องมีพิสูจน์ว่า ข้าวหอมมะลิเป็นของไทยหรือสหรัฐฯ กันแน่ เหมือนกรณีของกวาวเครือที่ญี่ปุ่นนำไปจดสิทธิบัตร
การลงเจรจาเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิบัตร จึงเป็นเรื่องที่อันตราย และส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยโดยตรงทีเดียว
เทรดเดอร์ยามองมุมต่าง
ถึงแม้จะมีข้อวิพากษ์ผลกระทบเชิงลบจากการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา แต่ในด้านกลุ่มผู้ค้ายาก็เห็นแต่มุมที่จะได้ประโยชน์เป็นหลักมากกว่า
ภญ.พนิดา ปัญญางาม ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Prema) ชี้ว่า ไทยซื้อสินค้ายาจากอเมริกาไม่มาก เพราะยาจากบริษัทแม่อเมริกาหลายตัว เช่นไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สั่งซื้อได้จากประเทศอื่นที่มีโรงงานตั้งอยู่ เพราะเขาจะมีโรงงานสาขาทั่วโลก บางทีเราก็ผลิตเอง บางทีก็ซื้อวัตถุดิบมาผลิต หรือสั่งจากประเทศอื่นที่ผลิตอยู่
อาจถือว่าอเมริกาส่งยาจากเขามาไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็น้อยมาก และเราก็สั่งซื้อจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือญี่ปุ่น
“ถ้าเทียบกับการต้องซื้อวัตถุดิบจากเขามาแล้วถือว่าไทยได้เยอะกว่าเพราะเชิงพาณิชย์หลายอย่างอยู่ในประเทศเรา เช่น การที่เขามาลงทุนจัดประชุมวิชาการในไทย ร่วมกับโรงพยาบาล หรือแม้แต่เกิดการจ้างงาน เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้”
ยาใหม่เข้ามาเร็วขึ้น
ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อวิพากษ์เรื่องยา ทาง Prema มองในมุมบวกที่จะเกิดขึ้นเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่ไทยก็คุ้มครอง 20 ปีอยู่แล้ว หรือการคุ้มครองข้อมูลยาเมื่อขึ้นทะเบียนอย. 5 ปี ก็เป็นเรื่องที่ประเทศอื่นให้แต่ระยะเวลาอาจต่างกันไป ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บอกว่าจะให้กี่ปี เพราะข้อมูลรวบรวมมาใช้เวลาไม่เท่ากัน
“ในการทำวิจัยพวกนี้ ไม่ใช่สักแต่ทำ เขาจะส่งคนมาสอนเรา มีมาตรฐาน มีกรอบชัด เราก็ต้องอยู่กรอบนี้ ก็เป็นเรื่องการลงทุนสูง เขาเลยขอว่าหากต้องยื่นเอกสารให้อย.ทั้งหมดก็อยากให้อย.ดูแลให้นิดหนึ่งจะให้กี่ปีก็ว่าไปแล้วแต่เจรจาตกลง หรือแล้วแต่ไทยคิดเอง คือเฉพาะช่วงนั้นอย่าเพิ่งรับทะเบียนของGeneric”ภญ.พนิดากล่าว
“ถามว่ามีผลกระทบอะไร แน่นอน Generic จะเข้าช้า แต่ยาใหม่จะเข้าเร็วขึ้น เพราะเราให้ความคุ้มครองแก่เขา แต่ถ้าเราไม่ให้ ก็ได้เหมือนกันไม่เสียอะไร เพียงแต่ยาใหม่มาช้าลง”
“บริษัทยาก็มีหลักคิดที่ไม่ต่างกับการเขียนหนังสือ การประพันธ์บทเพลง คือถ้าประเทศไหนให้ความคุ้มครองก็จะมาทันทีเมื่อขายได้เยอะขึ้นราคาก็จะถูกลง ถ้าขายน้อยราคาก็แพง”
ในประเด็นเรื่องยาแพง ภญ.พนิดาชี้ว่า สิทธิบัตรไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายาแพง แต่ที่แพงเพราะกลไกและกระบวนการ คือ การเริ่มต้นขายได้จำนวนน้อย ยอดผลิตก็น้อย ยางบางตัวมีขั้นตอน เช่น การแพ็กที่ต้องอยู่ในอุปกรณ์ที่เหมาะสมป้องกันแสง ป้องกันความชื้น เหล่านี้ต่างหากเป็นปัจจัยกำหนดราคา ซึ่งรวมถึงช่องทางในการจำหน่ายยาที่จะยากง่ายเพียงใด เช่นต้องจัดการเรื่องตู้แช่ควบคุมอุณหภูมิคุณภาพยา
เธอระบุต่อว่า นักการตลาดที่ดูแลเรื่องการขายผลิตภัณฑ์ยายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ยาตัวนี้มีสิทธิบัตรหรือไม่ เพราะบริษัทแม่ส่วนใหญ่จะจดสิทธิบัตรอยู่เมืองนอก ส่วนนักการตลาดที่วางแผนที่จะขายในประเทศ จะดูจำนวนคนไข้ แต่ละโรงพยาบาลจะรับยาเข้าไปมากน้อยแค่ไหน หมอจะรับไหม ร้านขายยาจะรับไหม คือดูองค์ประกอบของการตลาดมากกว่าไม่ได้ดูว่ามีสิทธิบัตรหรือเปล่า
ตัวอย่างเช่น ยา Tamiflu พอมีข่าวว่ามีสิทธิบัตรทำให้ยาแพง ทางสมาคมฯ ก็โทรไปถามที่บริษัทฯว่ามีสิทธิบัตรหรือเปล่า พนักงานก็ไม่รู้ต้องเช็คจากเมืองนอก และปรากฏว่าไม่มี แต่หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวไปแล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้ที่ไม่ชี้แจงสู่สาธารณะเพราะมองว่าพูดมากไปจะดีหรือไม่ สำหรับบางคนก็รู้สึกว่าราคาแพงอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นธรรมดา เพราะต้นทุนกว่าจะผลิตได้ 10 กว่าปีลงทุนประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3 หมื่นกว่าล้านบาทเท่ากับงบยิ่งจรวดขึ้นไปบนอวกาศ
ผู้ประกอบไทยไม่คิดต่อยอด
ภญ.พนิดากล่าวต่อว่า เรื่อง FTA เราเห็นไม่ตรงกัน เขาเห็นหัว เราเห็นก้อย อยู่ที่มองด้านไหน เราไม่เห็นว่าจะมีอะไรลบ ถามว่าจะให้ร้ายอะไรกับผู้ประกอบการไทยไหม สิ่งที่เขาขอเขาไม่ได้ขอว่าให้การคุ้มครองเฉพาะยาของเขา
เขาต้องการให้มีระบบนี้ ถ้าคนไทยคิดได้ก็ได้รับคุ้มครองเหมือนกัน แต่คนไทยมักพูดว่าเราทำไม่ได้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้
“คนไทยมีศักยภาพ นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดได้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็คิดได้หลายตัว แต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้หยิบผลงานพวกนั้นมาค้นคว้าและวิจัยต่อ ถ้าได้สานสัมพันธ์กันไว้ถ้าผลิตยาขายได้ผลประโยชน์แบ่งกันก็ถือว่ามีแต่ได้ เพียงแต่ขอคิดให้ทำเถอะจะมีแต่ได้ แต่ก่อนได้ก็คงต้องยอมเสียก่อน” ในการลงทุนทำวิจัย (R&D) ด้านยานั้น ในต่างประเทศได้เก็บข้อมูลช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาได้ค่าเฉลี่ยการลงทุนทำ R&D ของอุตสาหกรรมยาต้องลงทุนถึง 12.5% ของรายได้ สมมติบริษัทยาไทยขายได้ 100 ล้านบาทต้องลงทุนวิจัยประมาณ 12 ล้านบาท
แต่ปัจจุบันการลงทุนด้านนี้ของไทยมี น้อยมาก เห็นได้จาก งบประมาณของรัฐในการทำ R&D ทุกอุตสาหกรรมแค่ 2-3% ซึ่งน้อยมาก แต่ก็ถิอว่าดีกว่าแต่ก่อนที่แค่ 0.5%
สำหรับมูลค่าตลาดยาในเมืองไทยมี ประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เฉพาะสมาชิกสมาคม Prema ครองตลาดอยู่ในสัดส่วน 70-80% หรือมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท
แปลงความเชื่อสู่หลักวิทย์
มุมมองของภญ.พนิดาในกลุ่มยาที่เป็น สมุนไพร เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นเห็นว่า ที่ผ่านมาเป็นเรื่องความเชื่อ เช่น การต้มยาหม้อรักษา การไปพึ่งพระในการรักษา แต่ขณะนี้ ควรจะหันมาทำเป็นเชิงวิทยาศาตร์ให้มากขึ้นว่ายาหม้อที่เคยรับประทานนั้นมีสารประกอบอะไรบ้างเพื่อสร้างความยั่งยืนได้
เรื่องนี้น่าจะถือเป็นจุดอ่อนด้อยของไทยที่อาจถูกฉกฉวยโดยต่างประเทศที่มีความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วงชิงการจดสิทธิบัตรสมุนไพรไทยไปก่อนได้
แต่ในมุมมองของผู้ค้ายาก็เห็นว่า “ถ้าฝรั่งเขาเจอของใหม่ คนอื่นไม่มีใครทำเขาก็จดได้ ขณะเดียวกันถ้าเราเป็นคนทำก็จดได้ คนไทยขึ้นอยู่ที่ว่าจะลงทุนหรือเปล่า จะไม่ลงทุนแล้วบอกจะเอาก็ไม่ได้ ฝรั่งเขาก็ลงทุนจึงได้มา ประเด็นของเราคือถ้าไม่เริ่มทำเมื่อไหร่จะทำเป็น ถ้าไม่อยากเรียนผิดเรียนถูก ก็เรียนลัดเอากับเขาได้ เช่นที่เยอรมนียาเป็นสมุนไพรเหมือนยาหม้อบ้านเรา แต่เขามีข้อมูล มีการทดลองสมุนไพรตัวนี้สกัดมาได้ตัวนี้ให้ผลอย่างนี้ ทำแบบให้ถูกต้องเวลาการรักษาโรคก็ถูกต้องมากกว่า
เจรจา IP เปิดทางฝรั่ง รีดค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์
ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะเกี่ยวพันกับอุตสหากรรมที่ไทยยังไม่แข็งแรงพอและไม่มีแต้มต่อพอฟัดพอเหวี่ยงสู้สหรัฐฯ ได้
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ นายกสมาคม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) ให้มุมมองถึงผลกระทบข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยว่า สาระสำคัญของข้อตกลงนั้นอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการฟอร์แมต ซึ่งเป็นฟอร์แมตเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศสิงคโปร์เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในด้านสิทธิบัตรยาและซอฟต์แวร์ ซึ่งในแง่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยถือว่ามีทั้งผลดีและลบ
ผลดีคือ ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และเร่งพัฒนาค่าแรงให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบจะเป็นการส่งผลในแง่ของค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้น
“ข้อตกลงดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบโดย ตรงให้โครงสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสินค้าด้านซอฟต์แวร์ไทยเป็นการนำเข้ามามากกว่าส่งออกจำหน่าย เพียงแต่ระยะยาวความเป็นเจ้าของหรือการพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้อาจจะน้อยลง โดยเราจะเป็นผู้ใช้มากกว่าผู้ผลิต จนเกิดเป็นช่องว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าที่ต่างชาติจะได้ก็จะยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น”นายอนุกูล กล่าวถึงผลกระทบข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯ ต่อวงการซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว
พร้อมเสริมถึงวิธีการปรับตัวรับมือกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐว่า จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรจากการเป็นผู้บริโภคซอฟต์แวร์มาเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น รวมถึงเร่งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่
ขณะที่ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วิเคราะห์ ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะเกี่ยวพันกับเรื่องการกำหนดลักษณะการจดลิขสิทธิ์จากเดิมเปลี่ยนเป็นต้องจดเป็นสิทธิบัตร ดังนั้น อาจส่งผลกระทบต่อนักพัฒนาคนไทยที่ไม่สามารถนำแนวคิดมาต่อยอดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้
พร้อมกันนี้เรื่อง FTA ไทย-สหรัฐฯ ยังมีการกำหนดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ อีคอมเมิร์ซ อีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 สาระคือ สาระแรกเรื่องของสินค้าที่เป็นซอฟต์แวร์แต่ก่อนเมื่อมีการนำเข้าการคิดภาษีจะคิดราคาเต็มของสินค้าทั้งหมด แต่ข้อตกลงต้องการให้คิดเพียงค่าราคาซีดีเท่านั้น และหากมีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตก็กำหนดไม่ให้เก็บภาษี ทำให้ประเทศไทยเก็บภาษีได้น้อยลง
สาระที่สองคือ เรื่องของบริการ เช่น การศึกษา การรักษาโรค มีการตกลงว่าการค้า บริการให้ทำผ่าน อีเลิร์นนิง ได้ ดังนั้นเท่ากับว่าผู้เรียนก็สามารถเรียนจากสถาบันต่างชาติได้ง่ายโดยอาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษาตามมาภายหลัง รวมถึง e-health ที่สามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ก็ต้องระวังเรื่องมาตรฐานด้วยเช่นกัน
คนไทยมีหวังใช้ของแพง
นายชาติชาย สุภัควนิช กรรมการผู้จัดการบริษัททู พลัส ซอฟต์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์วิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยกับสหรัฐฯ ว่า ถ้าเทียบในเชิงมูลค่าในเรื่องซอฟต์แวร์ระหว่างสองประเทศ ไทยคิดเป็นเพียง 0.001% ของสหรัฐฯ ดังนั้น ในเชิงของขนาดไม่ต้องไปเทียบ ไทยไม่อาจแข่งขันได้ในทุกประตู ต้องเข้าใจก่อนว่าเราจัดอยู่ในประเภทผู้รับจ้างทำของตามออเดอร์ ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร เจ้าของลิขสิทธิแต่อย่างใด
ถามว่า เมื่อทำ FTA แล้วจะเกิดผลอะไรตามมา ตนวิเคราะห์ว่าอย่างน้อยมี 3 อย่าง ประกอบด้วย 1.นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้ และถูกครอบงำจากผู้ที่แข็งแรงกว่าต่อไป 2.ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ของไทย ที่ส่วนใหญ่กว่า 80% ใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกบังคับให้ใช้ของที่ถูกกฎหมาย แต่มีราคาแพงขึ้น 3.ซอฟต์แวร์ จะกลายเป็นข้อที่ถูกนำไปต่อรองกับเรื่องอื่น เช่น สิทธิบัตรยา เป็นต้น
“โดยลำพังอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ไม่อาจไปเทียบกับสหรัฐได้ เพราะนักพัฒนาของไทยจัดอยู่ในระดับโลว์เอนด์ หรือ เป็นผู้ให้บริการมากกว่าเป็นผู้ผลิต ส่วนที่พัฒนาในระดับไฮเอนด์มีเพียง 4-5 รายเท่านั้น และศักยภาพก็ไม่ถึงขั้นที่จะส่งออกได้ จึงมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น” กรรมการผู้จัดการทู พลัส ซอฟต์กล่าว
ในปัจจุบันซอฟต์แวร์เกือบทุกประเภท ประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้า ไม่ใช่ผู้ส่งออก และอีก 20ปีตนก็ยังไม่มั่นใจว่า เราจะเป็นผู้ส่งได้หรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดประโยชน์จากกรอบข้อตกลง FTA นักพัฒนาซอต์แวร์ไทยจะต้องเป็นนักอินทริเกตมากกว่าจะเป็นนักก็อปปี้อย่างเดียว เพราะโดยพื้นฐานเรามีความถนัดในเรื่องการให้บริการ จึงควรชูจุดเด่นดังกล่าวมาใช้ อย่างกรณีของทู พลัส ซอฟต์ มุ่งเน้นซอฟต์แวร์ระดับไฮเอนด์ ในการใช้บริการจะต้องมีเทคนิคคัลคอยสนับสนุนตลอด
ซอฟต์แวร์แลกยา
นายชาติชายยังวิเคราะห์อีกว่า ประเด็นการเจรจาเรื่องซอฟต์แวร์โดยสภาพตัวมันเอง ไม่ค่อยมีผลอะไรมากนัก เพราะไทยไม่ใช่แหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์แต่เป็นผู้ใช้มากกว่า นอกจากจะถูกบังคับจากเจ้าของไลเซนส์ให้ใช้ของถูกฎหมาย อย่างอื่นไม่ค่อยน่าห่วง แต่ประเด็นซอฟต์แวร์น่าจะถูกนำไปต่อรองกับเรื่องอื่น อาทิ เรื่องสิทธิบัตรยา เพราะไทยนำเข้ายาปีหนึ่งๆ เป็นหลักแสนล้านบาท ถ้ามีการยืดระยะเวลาคุ้มครองจาก 5 ปี เป็น 10 ปี 20 ปี แค่นี้ไทยก็แย่แล้ว
ข้อสังเกตข้างต้น มีหลายคนเป็นห่วง จึงอยากให้รัฐบาล และคณะผู้แทนเจรจาได้ระมัดระวังในประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะจุดแข็งของไทยคือประเทศเขตร้อนในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีพันธุ์พืช และสัตว์นับ 100 ชนิด ถึงกว่า1,000 ชนิด จึงกลายเป็นจุดแข็ง และเป็นทรัพยากรที่ประเทศเมืองหนาวมีไม่ได้ เพราะ 1 ตารางกิโลเมตรของเขาจะมีเพียงไม่เกิน 3-4 ชนิดเท่านั้น
ดังนั้น หากนำประเด็นซอฟต์แวร์ที่สหรัฐฯมีจุดแข็ง ไปต่อรองกับเรื่องพันธุ์พืช และสัตว์ ที่ไทยมีจุดแข็งจะกลายเป็นกับดักสำคัญ!!!
ไทยแหล่งบริโภคซอฟต์แวร์!
นายแพทย์คมกฤช สุวรรณกูฎ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิคอลซอฟต์ จำกัดกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการยืดอายุของซอฟต์แวร์คงไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่ใช่ผู้ทำการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เป็นผู้ดัดแปลงเทคโนโลยีมาใช้ต่อยอดมากกว่า จึงเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น
ส่วนประเด็นการเปลี่ยนการจดลิขสิทธิ์เป็นสิทธิบัตรนั้น จะทำให้ผู้คิดค้นเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นจึงเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อมีการฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่คดีจะจบลงด้วยการประนีประนอมกันมากกว่า และผู้ใช้ไม่ใช่คนผิดแต่คนที่ดาวน์โหลดและนำไปจำหน่ายคือผู้ผิด เนื่องจากการละเมิดระบุว่าห้ามเผยแพร่หรือทำซ้ำ
อย่างเช่น กรณีไมโครซอฟท์ ฟ้องร้อง ผู้ละเมิดต่างๆ ก็มักจะสิ้นสุดลงด้วยการประณีประนอมเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง FTA ที่สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวรืไทยหารือร่วมกัน คือ เรื่องการบังคับทางภาครัฐให้ใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์มากกว่า โดยนำทีโออาร์มาอ้าง และองค์กรภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันไอทีในประเทศไทย ตรงนี้มากกว่าที่อาจจะทำให้นักพัฒนาระดับโลคัลของไทยมีปัญหา เพราะอาจถูกตัดสิทธิ์ในการทำตลาดให้กับต่างชาติได้
ดังนั้น หากมองไปแล้วเรื่องของอฟต์แวร์ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ตรงกันข้ามกับเรื่องลิขสิทธิ์ยาและพันธุ์ข้าวอย่างข้าวหอมมะลิที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้มากกว่า
ลงทุนซอฟต์แวร์ก่อนทำ FTA
นายชาติชายเสนอแนะว่า การปรับตัวของไทยในเรื่องซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะเกิดกรอบ FTA หรือไม่ก็ตาม ควรจะได้ลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันการพัฒนาซอฟต์แวร์แต่ละเรื่องของบริษัทไทยจะมีคนเพียง 2-3 คนร่วมกันทำงาน ขณะที่ทั้งอินเดีย สหรัฐฯ เกาหลี ในการพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาสักชิ้นจะใช้กำลังนักพัฒนาเป็นหลัก 100 คนขึ้นไป ส่งผลให้ชิ้นงานที่ออกมาสามารถแข่งขันได้ และเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล
ดังนั้น ทั้งรัฐและเอกชนไทยควรร่วมมือลงทุนในเรื่องซอฟต์แวร์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่อย่างนั้น ไทยจะอยู่ในฐานะผู้บริโภค และรับจ้างทำของต่อไป
ในประเด็นเดียวกัน นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (องค์การมหาชน) หรือซีป้ามองว่า อยากเห็นจากภาคเอกชน คือ อยากให้กล้าลงทุนใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ลงทุนเรื่องการพัฒนาคุณภาพคนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ 2.ลงทุนเรื่องการยกระดับศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้มากกว่านี้
ทั้งนี้ ปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน คือ ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุนมากใน 2 เรื่องข้างต้น นอกจากนี้มักจะลงทุนในระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อการไม่ต่อเนื่อง แทนที่จะลงทุนในระยะปานกลาง ถึงระยะยาวมากกว่า เพราะการลงทุนระยะปานกลางจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรซอฟต์แวร์ไทยได้ในระดับโลก
กรรมการผู้จัดการทู พลัส ซอฟต์ยังกล่าวอีกว่า ยังมีประเด็นน่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่ง คือ ซอฟต์แวร์ของไทยที่ทำกันมักจะเป็นเพียงภาษาไทย เมื่อคนอื่นนำไปใช้ต้องไปจัดทำ โครงขึ้นทั้งฉบับ ทั้งที่ ในประเทศอื่นเขาสามารถแปลงได้หลายๆ ภาษาจึงทำให้การพัฒนาไปได้ไกล และส่งออกได้
นอกเหนือจากเรื่องสิทธิบัตรยาและลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีผลสะเทือนอีกมหาศาลที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง รวมถึงคุ้มครองสัญญาณดาวเทียมเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ การเข้าแทรกแซงอำนาจรัฐไทยให้เปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้ตำรวจจับผู้ละเมิดสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องมีระบบร้องทุกข์ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ Sensitive ใหญ่หลวง ที่คณะเจรจาของไทยต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนในชาติไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนี้ กระแสชาตินิยมลักษณะคล้ายกรณีต่อต้านทุนสิงคโปร์ที่เกิดจากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปก็อาจเกิดกับทุนอเมริกันได้ด้วยเช่นกันเนื่องจากมีเชื้ออยู่แล้ว
No comments:
Post a Comment