FTA มุมมองหอการค้า พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
Thaipost15 มกราคม 2549
กองบรรณาธิการ
"เวลาภาพมันออกมา-เฮ้ย เราเปิดไฟแนนซ์ให้มัน อย่างน้อยช้าหน่อย อธิบายให้ public ฟัง แต่เราได้น้ำตาลมา 5 แสนตัน ได้ตรงนั้นๆ ผมอยากฟังอย่างนั้น แต่เท่าที่ผ่านมาวันนี้ยังไม่เคยได้ยิน"
กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเป็นประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตามเรื่องการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ไม่ว่า WTO หรือ FTA ที่ไทยกำลังเจรจากับสหรัฐในตอนนี้
ถึงแม้ในทัศนะทั่วไป หอการค้าจะเป็นตัวแทนของนักธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเปิด FTA เพราะอย่างน้อยก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่ในบางด้าน นักธุรกิจไทยก็จะต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันจาก FTA เช่นกัน ฉะนั้น ทัศนะของเขาจึงถือเป็นข้อมูลด้านหนึ่งที่ควรรับฟัง
การสนทนาครั้งนี้ พรศิลป์เชิญทีมงานมานั่งร่วมให้ข้อมูลด้วย (แบบที่ทำเราตกใจนึกว่ามาสัมมนา) ได้แก่ พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานคณะอนุกรรมการ FTA ไทย-สหรัฐ คุณากร เมฆใจดี ประธานคณะอนุกรรมการ WTO วีรชัย วงศ์บุญสิน ประธานคณะอนุกรรมการติดตามผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี และบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะอนุกรรมการติดตามผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี
ได้กับเสีย
ถามถึงการเจรจาครั้งที่เพิ่งผ่านไปที่เชียงใหม่ก่อน ว่าเขาประเมินอย่างไร
"ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ผมประเมินว่าความคืบหน้า-ถ้ารวมครั้งนี้ด้วย ประมาณสัก 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่า 5 ครั้งแรกมันไม่ได้เจรจา มีแต่การส่งข้อมูลกันไปมา มีการทำความเข้าใจในบางเรื่อง ขณะเดียวกันก็มีการส่งประเด็น สิ่งที่เรียกร้อง เรื่องภาษี สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม แหล่งกำเนิดสินค้า อะไรต่ออะไรหลายๆ เรื่อง ก็เป็น 5 ครั้งแรก ครั้งนี้เป็นการเจรจาเริ่มต้นในแต่ละประเด็น รายละเอียดเราก็ตามกันอยู่ แต่เป็นเรื่องที่เขาไม่สามารถจะให้ได้หมด ต้องยอมรับว่าข้อมูลไม่มีละเอียดถึงขนาดนั้น เราล้วงทะลุทะลวงเข้าไปไม่ได้ เพียงแต่เรารู้ว่าเราอยากได้อะไร summit อะไรไป เจรจามันจะไปถึงไหน"
"ในขณะนี้ข้อมูลมันไม่ได้ออกมา เลยทำให้มีประเด็นว่าน่าจะต้องเปิดเผย ถามว่าเราอยากรู้ไหม เราก็อยากรู้ แต่ที่เขาทำอย่างนั้นมันผิดไหม ผมก็ว่าไม่ผิด ผมก็เชื่อว่าคนอเมริกันเองก็ไม่ได้ข้อมูลหรอก คนเจรจาโดยธรรมชาติไม่อยากยุ่งยากอยู่แล้ว อันนี้เราก็เห็นใจ"
แต่ตอนนี้ผู้คัดค้านรวมทั้ง ส.ว.และฝ่ายค้านเห็นว่าควรจะต้องผ่านรัฐสภาเหมือนสหรัฐ
"ผมคิดว่านี่ก็พูดกันเยอะแล้ว มันก็อยู่ที่กฎหมายของแต่ละประเทศ จำเป็นไหมว่าเราต้องเหมือนเขา หรือทำไมเขาต้องมี Fast Track ทางเราไม่มี ทำไมรัฐสภาเราไม่ก๊อบปี้เขา ให้นายกฯ Fast Track ไปเลย คือไม่ต้องมาถามสภา คุณเจรจาแล้วก็สรุปไปเลย แล้วมาเข้าสภา อันนี้เราก็ไม่มีเหมือนกัน แล้วแต่กฎหมายแต่ละประเทศ"
รัฐบาลซาวเสียงหอการค้ามาก่อนเจรจาหรือเปล่า
"มีตลอดเวลา คือเขาแบ่งหน้าที่ Chief Co-ordinator ก็เป็นกระทรวงต่างประเทศ ในแต่ละภาคส่วนเขาก็แยกดูแลกันไปตามกระทรวง"
แต่พรศิลป์ก็บอกว่ารัฐบาลไม่ได้บอกความคืบหน้ามากนัก ต้องติดตามวิเคราะห์เองด้วย
"ขณะที่เขาเจรจาทุกครั้ง เอกชน 2 สถาบัน หอการค้ากับสภาอุตฯ ไปทุกครั้ง ที่อเมริกาก็ไปทุกครั้ง ไปเพื่อ-หนึ่ง เผื่อทางผู้เจรจาจะถามเราว่าเอกชนคิดอย่างไร เราก็สามารถส่งผ่านเข้ามาที่กรุงเทพฯ ได้ เหมือนกรณีว่าจะต่อรองกันอย่างนี้คิดอย่างไรเราก็โทรศัพท์ถามกัน เป็นเครื่องมือให้รัฐในการอำนวยความสะดวก อันที่สองคือเรื่องการเก็บข้อมูล ตอนเย็นรัฐจะมีการ briefing ทุกคนที่เจรจาตามห้องต่างๆ ตกเย็นก็มาเล่าว่าคุยอะไรกันไปบ้าง เอกชนก็จะรับทราบข้อมูล แต่ไม่ได้เข้าไปนั่งเจรจา นอกจากบาง section อย่างเรื่องของความร่วมมือสร้างศักยภาพในการแข่งขัน (TCB-Trade Capacity Building) ก็สามารถให้เอกชนไป present ได้ ซึ่งที่ผ่านมาที่เชียงใหม่เอกชนก็เข้าไป present เรื่องความร่วมมือด้านอาหาร มันเป็นช่องที่เปิดไว้ว่าถ้ารัฐบาลไทยจะขอมากกว่า เพราะเขาคงไม่ต้องการให้เราไป build อะไรให้เขาหรอก เราก็จะ present ว่าเราอยากได้อะไร ร่วมมืออะไร"
"กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ใน FTA เพราะใน WTO ไม่มี มัน 100 กว่าประเทศทำกันไม่ได้ แต่ถ้า 2 ฝ่ายสามารถมีช่องทางนี้เป็นเครื่องมือ นี่ก็เป็นความน่ารักของ FTA ถ้าทำสำเร็จ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นก็มีช่องนี้อยู่ เกี่ยวกับเรื่อง food safety ถ้าจบตรงนั้นได้ การทำงานต่อเนื่องคือเอกชนกับรัฐไทยต้องตั้ง committee ขึ้นมาเพื่อทำงานกับรัฐบาลญี่ปุ่น ถามว่าตรงนี้ญี่ปุ่นเคยให้กับใครหรือเปล่า เราก็ทราบอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเปิดโอกาสตรงนี้น้อยมากๆ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรอาหารเพื่อนำเข้าญี่ปุ่น ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายเขาโดยตรง อันนี้ก็เป็นช่องทางอันหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ และผมเชื่อใน spirit ของญี่ปุ่นว่าเขาทำจริง ผมกลับเป็นห่วงว่านับหนึ่งเราอาจจะวิ่งไม่ทันเขา"
อธิบายว่า TCB หมายถึงความร่วมมือต่างๆ ไม่ใช่แค่อาหาร อย่าง FTA กับสหรัฐที่อยู่ระหว่างเจรจามีการนำเสนอไป 53 โปรเจ็กต์ "ความร่วมมืออเมริกาจะมีหลายรูปแบบ ช่วยเรื่องเงิน หรือส่งคนที่ expert มาช่วยเรา ซึ่งเป็นไปได้"
แล้วการเจรจาเรื่องอื่นๆ ที่หอการค้าได้เข้าไปร่วมล่ะ
"ยกตัวอย่างมาตรการการทุ่มตลาด อันนี้คือประเด็นที่เราสามารถเข้าไปร่วมได้ อันอื่นไม่ได้ ผมคิดว่าก็ตรงไปตรงมา เขาก็ไม่มีคนเข้ามา ต่างคนต่างก็รัฐเจรจา ไม่มีใครเรียกร้องให้เอกชนเข้า ถ้าเราเข้าเขาก็เข้าเหมือนกัน ก็วุ่นวายกันไปหมด และที่สำคัญถ้าเอกชนเข้าได้ก็ต้องมาตอบคำถามว่า เข้าไปในฐานะตัวแทนเอกชนทั้งประเทศหรือเปล่า ไม่ใช่เข้าไปแล้วตอบ yes หรือ no ข้างนอกพังกันไปหมดเลย อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเข้าแล้วนั่งฟังเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร เฉยลูกเดียวห้ามพูดเลยนะ แต่ถ้าเข้าแล้วเป็นตัวแทนไปเลยนี่ถือเป็น commit นะ"
ในสายตาของหอการค้าไทย การเปิด FTA มีจุดไหนที่เป็นผลดีผลเสีย
"ในหลักการอะไรที่เราปรับตัวน้อยที่สุดก็ถือว่าได้ประโยชน์ สมมติผมขายทูน่าอยู่ แล้วมีการให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร แล้วก็ไม่ได้ทำให้ผมลำบากขึ้น ผมก็มีโอกาสขยายตลาด อันนี้ผมแฮปปี้อยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มีโอกาสขายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากมีอะไรก็ตามพอเจรจาออกมาแล้วมีบางอย่างที่ต้องปรับ-ผมไม่บอกว่าเสียเปรียบนะครับ คำพูดนี้ต้องพูดให้ชัดเจน ปรับกับไม่ปรับ ปรับมากปรับน้อย-แต่ถ้าอะไรที่ต้องปรับผมก็มองว่าเราจะต้องไปดูแลตรงนี้ จะปรับยังไง ใครเกี่ยวข้อง การปรับอาจจะปรับเพื่อความได้เปรียบต่อไปก็ได้ ในทางกลับกันคนที่ได้โดยไม่ต้องปรับและไม่ปรับเลยอาจจะเสียเปรียบในอีก 3 เดือนก็ได้นะ สรุปก็คือว่าการปรับตัวมันเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งผู้บริโภคไม่มียกเว้น ก็เลยอยากให้ทุกคนเฝ้าระวัง แต่ถ้าเราปิดกั้นอะไรบางอย่างโดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริง ไม่คิดจะปรับอะไรเลย ผมก็คิดว่านี่เป็น negative thinking ถ้าอะไรลบแล้วก็ไม่คิดต่อไป ก็แล้วแต่คน บอกว่าไม่เอาแล้วก็เดินหนีเลย แต่ถ้าบอกว่าเอา-ปัญหาอะไรก็มาแก้ต่อไป นี่ผมว่ามันคนละคอนเซ็ปต์"
"สำหรับผมยึดคอนเซ็ปต์หลัง คือดูเป็น positive แล้วปรับอะไรก็มาว่ากันไป ทำนองเดียวกันอเมริกาก็ต้องปรับ ไม่ใช่ว่ามันอยู่เฉยๆ มันก็ต้องปรับตัวกันทั้งนั้น ผมมองในภาพใหญ่ ฉะนั้นผมรับได้ทุก issue แต่ในภาพรวมผมคิดว่าภาษีลดมากลดน้อย จะมีปัญหามากน้อย ทุกคนต้องปรับตัวหมด ยกตัวอย่างเรื่องยา เราก็ต้องดูศักยภาพประเทศไทยเหมือนกันว่าเราอยู่ตรงไหนของแผนที่ เผลอๆ บางทีเราไม่ต้องเปิด FTA ก็ invite เขาเข้ามาโดยอัตโนมัติ ช่วยมาทำให้หน่อย หรือเราต้องปกป้องคุณเพื่อจะได้ให้ยาที่ดีเข้ามา แต่บางคนก็บอกว่าราคาจะแพงไป 20-50 เท่า อันนี้ก็ไม่รู้ ต้องไปฟังคนที่รู้จริงว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มันแปลออกมาว่าราคาขึ้นขนาดนั้นหรือเปล่า มันต้องเป็น fact ฉะนั้นทั้งภาพมันก็บอกไม่ได้ทันทีหรอก กำไรหรือขาดทุน แต่ว่าทั้งภาพมันจะต้องเกลี่ยไปเองโดยอัตโนมัติ ผสมกันระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง สังคม บางเรื่อมันตีค่าออกมาไม่ได้"
"ในอีกด้านหนึ่งที่อยากจะให้มองคือมีคนถามกันเยอะและผมก็ถาม ถ้าไม่มี FTA เลยเราจะทำยังไงมากกว่า ต้องกลับไปคิดตรงนั้น ว่าถ้าเราไม่มี FTA เลย อยู่เฉยๆ เราจะเสียอะไร เราต้องปรับตัวอะไร ผมว่าเยอะกว่านี้นะถ้าคิดอย่างเร็วๆ"
"ถ้าเราไม่มีการจัดเรื่อง FTA ในแง่ภาษีศุลกากร เรื่องการลงทุน เรื่องอะไรต่ออะไร ซึ่งผมยืนยันว่ามันเพิ่งเริ่มต้นเจรจานะครับ อาทิตย์ที่ผ่านมามันเหมือนสรุปกันไปแล้ว คือเดาว่าถ้าเป็นอย่างนี้มันอาจจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ การเจรจามันยังไม่สรุปออกไป
"คำถามคืออยู่เฉยๆ ไม่มีการทำ FTA ก็คือทุกอย่างอยู่กับที่ กฎหมายระเบียบก็อยู่กับที่หมด อย่าลืมว่าการซื้อขายวันนี้ไม่จำเป็นต้องมี FTA เขาก็ใช้ตลาดมาบังคับเราอยู่แล้ว อย่างเรื่องแรงงาน ไนกี้มันก็มาเปิดโรงงานเรียบร้อยแล้ว ไม่เห็นต้องผ่านกฎหมายหรือ FTA เลย ไอ้อย่างนั้นเข้ามาแล้วไม่มี FTA คุ้มครอง มันยิ่ง subjective ใหญ่เลย และอีกด้านคือภาษีไม่ได้ลดด้วยเพราะคุณไม่ได้เจรจา FTA กับเขา ในขณะเดียว เขาอาจจะไปทำกับอินเดียกับเนปาลแล้วก็ใช้มาตรการเดียวกัน แต่ว่าอเมริกาจะลดภาษีให้ ถึงเวลานั้นเราไม่ทำเราก็ยังต้องปฏิบัติอยู่เพราะว่าผู้ซื้อมีอำนาจเหนือตลาด เราจะหนีไปไหน"
ต้องแลกเปลี่ยนจริง
ถามว่าในส่วนของหอการค้า เท่าที่ดูการเจรจามาทั้งหมดห่วงเรื่องไหนบ้าง
"เรื่องที่ไม่ห่วงก็คือเรื่องสินค้าที่คงเจรจาไปตามปกติ ผมคิดว่าที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าคนเจรจาไม่สามารถ trade of ในกลุ่มทั้งหมดที่เขาเรียกร้อง ซึ่งต่างกัน สมมติว่าเราต้องการอะไรและเขาต้องการอะไร ซึ่งมันไม่เหมือนกันเลยนะ สินค้า 2 ตัวนี้ ถ้าเราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนอย่างค่อนข้างเห็นชัดเจนว่าเรายอมให้เขา protection อย่างนั้นๆ แล้วเราก็ได้อันนี้มาซึ่งอธิบายได้ แต่วันนี้เท่าที่ผมฟังๆ อยู่ ยังไม่สบายใจ"
"ยกตัวอย่าง ที่เราอยากได้จริงๆ เช่น ปลาทูน่า หรืออะไรที่ export เยอะๆ-กุ้ง ภาษีพวกนี้ต่ำอยู่แล้ว แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับพวกนี้เราต้องเรียกร้องด้วย เหมือนกับที่เขาเรียกร้องเรา เรื่อง investment protection ที่ฟ้องรัฐได้ เราต้องเรียกร้องเรื่องที่เรามีประสบการณ์มา เช่นเรื่อง SPS ซึ่งไม่ใช่ว่าอเมริกาจะต้องลดมาตรการในการปกป้องคนของเขาในเรื่อง safety แต่ว่าต้องสร้างอะไรก็ตาม-ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะห้ามเข้าเลย มันต้องมีวิธีการอื่นที่ทำให้เราสามารถค้าขายต่อไปได้ เช่น early warning ให้เวลา คือต้องเอาแพ็กเกจมาดูทั้งหมด สมมติเรื่องอาหาร ภาษีลดได้มากจนกระทั่งเราเห็นชัดเจน-ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ลด 3 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปี อย่าให้ดีกว่า ยิ่งกว่าตุ๊กตาเด็กเล่นอีก-เอ้า ให้ไปค่อนข้างชัดเจน เช่น 6 เปอร์เซ็นต์เหลือ 0 เลย แต่มาตรการ SPS ถ้าจะบังคับใช้ต้องมีมาตรการที่จะเตือน เราต้องเจรจาควบคู่กันไปว่ามันจะต้องสร้างศักยภาพในการแข่งขันในลักษณะที่ยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกัน ในระยะยาวของอะไรที่เราส่งไปแล้วไม่ต้องไปรอตรวจที่อเมริกาอีก สิ่งเหล่านี้จะต้องมีเวทีหนึ่งที่จะทำให้การค้าเรา smooth ภาษีส่วนหนึ่ง ประเด็นเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่เป็นมาตรการปกป้อง 2 ฝ่ายนี้ต้องทำให้มันง่ายขึ้น แล้วก็เป็นธุรกิจ"
ตรงนี้เขาตั้งปุจฉาว่า เจ้าหน้าที่ผู้เจรจากล้าเรียกร้องหรือเปล่า
"หรือ Anti-Dumping (กฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด) เป็นกฎหมายในประเทศ แต่ว่ามันใช้ข้ามประเทศ แล้ววิธีการปฏิบัติมันก็ค่อนข้างเอาเปรียบ อเมริกาใช้มาเป็น 100 ปีแล้ว มันก็ไม่อยากจะเปลี่ยน ใน paper ภาษาอังกฤษเขาเขียนดักเลยว่าจะไม่มีการเจรจาเรื่องนี้กับประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าถามผมตัวนี้น่าจะมีมาตรการคุยได้"
"ไม่ได้บอกว่าให้คุณเลิกกฎหมายของคุณ แต่เมื่อคุณจะฟ้องเราเรื่องนี้ มาตรการความโปร่งใส หรือมาตรการอะไรก็ตามที่จัดการแล้วทำให้หนักเป็นเบาได้ ใน WTO วันนี้ก็มีกลุ่มที่กำลังเจรจาเรื่องนี้อยู่ ไม่ใช่วันนี้ต่างคนต่างถือกฎหมายกันคนละฉบับ ถามว่าประเทศไทยมีไหม มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด-มี ใช้เป็นไหม-ใช้เป็น แต่ว่าความสามารถมันต่างกันไง ฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นตัว block trade"
อธิบายให้ฟังว่าที่ผ่านมาสินค้าไทยโดนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจนเป็นอุปสรรคอย่างมาก
"อย่างประเทศไทยส่งกุ้งไปอเมริกา ราคาขายกับซื้อก็แล้วแต่ผู้ซื้อ-ผู้ขายตกลงกัน มีอยู่วันหนึ่งผู้ประกอบการสินค้ากุ้งในอเมริกาไปร้องว่าประเทศไทยเอากุ้งไปทุ่มตลาดเขา ทำให้อาชีพเขาเสียหาย รัฐบาลเขาก็มาสืบสวน มาดูบัญชี การทุ่มตลาดมันจะเกิดขึ้นเมื่อ-หนึ่ง เขากล่าวหาว่าเราขายราคาต่ำ ต่ำกว่าที่คุณขายในประเทศ แต่ถ้าไม่มีในประเทศ ต่ำกว่าที่ขายอีกประเทศหนึ่ง สอง ทำให้เขาเสียหาย ถ้าเงื่อนไขครบเขาฟ้องได้ แล้วมาดูต้นทุนเราหมดเลยนะ ถ้าเขาสรุปว่าคุณทุ่มจริงบริษัท 10 บริษัทที่ส่งออกจะโดนภาษีต่างกันหมดเลย รายหนึ่งอาจจะโดนภาษีเพิ่ม 10% รายหนึ่งอาจจะโดน 5%"
"ที่ร้ายแรงคือเขากล่าวหา เขาสอบสวน เขาตัดสิน-เสร็จ คุณ defend ได้ก็คือชี้แจงเท่านั้น และที่ร้ายกว่านั้นเขามีระบบ zeroing สมมติคุณขาย 20 ล็อตเข้ามาในอเมริกา 10 ล็อตของคุณในช่วงนั้นราคาปกติ แต่อีก 10 บังเอิญคุณถูกกล่าวหาว่าต่ำกว่าปกติ เขาจะเอา 10 ล็อตออก ไม่นับ เอาเฉพาะที่คุณทุ่มมาเฉลี่ย มันยุติธรรมไหมล่ะ คุณทำดีเขาไม่นับ คุณทำเลวเขาเบิ้ลให้คุณ"
"ผมถามว่าประเทศเราใช้มาตรการนี้ได้ไหม ได้ แต่มีปัญญาไหมล่ะ เราขึ้นภาษีญี่ปุ่นเรื่องเหล็ก มันมาตบไหล่เลยจะลดการลงทุน 3 หมื่นล้าน ต้องยกเลิกให้มัน อำนาจมันต่างกัน เกมนี้คุณเล่นได้ แต่คุณกล้าเล่นหรือเปล่า"
"ผมกำลังบอกว่าเหล่านี้ก็คือการเจรจาใน FTA ก็เปรียบเสมือนว่าเขามาบอกเรา Data Exclusivity สิทธิบัตร 25 ปี บ้าบอเต็มไปหมด บวกๆๆ ถามว่า FTA ก็คือ Free Trade Agreement ใช่หรือเปล่า แต่พวกที่เขาพูดมันบล็อกขึ้นมาหมด มัน free ที่ไหนวะ มันยิ่งกว่าบล็อกอีก มันไม่ได้เข้าคอนเซ็ปต์เลย ถ้า free หมายความว่า protect 20 ต้องเหลือ 15 ก็คือทำให้คนค้าขายง่ายขึ้น"
"อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมห่วงว่ากระบวนการทั้งหมดที่เจรจามาไม่สมดุล คือเราดูเฉพาะภาพเดียว สมมติลดภาษีรัฐบาลก็จะเจรจาแต่ลดภาษี กลุ่มภาษีทั้งหมด 5,000 ตัว คุณลด พอใจแค่มือซ้ายกับมือซ้ายจบเลย แต่อีก issue ที่คุณไม่แลกเข้าไปด้วย ไม่แลกเลย ไม่คิดด้วย ถามว่าเจรจาได้ไหม ได้ ก็เอาทั้งหมดมานั่งลงไปแล้วก็เกลี่ยทีละอันๆ ให้มันได้ตามที่เราอยากได้ อันนี้คือเรื่องที่ผมห่วง ในประเด็นเจรจา"
"อีกอันหนึ่งคือ cross trade ต้องข้ามช่องได้ด้วย" พรศิลป์บอกว่าในการเจรจาแลกเปลี่ยนต้องแลกเปลี่ยนข้ามช่อง ไม่ใช่แลกเปลี่ยนเฉพาะกลุ่มสินค้าเดียวกัน "เพราะภาคบริการเราไม่มีอะไรแลกกับเขา ทรัพย์สินทางปัญญาเราไม่มีอะไรแลกกับเขา ภาคสินค้าอุตสาหกรรมมีตัวตน เราเห็นว่าจะแลกอะไรได้ เขาต้องเอาบริการมาแลกสินค้า ไม่งั้นเราก็เสียเปรียบ"
ภาคบริการที่สำคัญคือภาคการเงิน "เราไม่มีสิทธิ์เรียกร้องเพราะเราไม่มี product จะขาย เวลาเขาเรียกร้องมาทั้งหมดแน่นอนเราต้องเปิดไม่มากก็น้อย แต่พอเราให้ปั๊บ ถ้ามันไม่ได้ cross trade ตรงนี้เท่ากับเราให้เขาอย่างเดียวเลย ฉะนั้นเราต้อง cross trade ต้องไปแลกกับตรงนี้ ต้องคุยไปด้วยกันทั้งหมด"
"อย่างน้ำตาลผมยังไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลจะขอโควตาขึ้นมาอีก อเมริกามัน import ปีละล้านกว่าตัน มันให้โควตาไทยแค่หมื่นกว่าตัน โอกาสใน FTA ต้องคุยให้แหลกเลย บอกต้องการโควตาเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็นแสน ต้องทุบโต๊ะ แต่อเมริกามันพูดตั้งแต่คำแรกเลย-น้ำตาลไม่เจรจา เห็นไหม มันมีสิทธิ์พูด แล้วเราทำไมไม่มีสิทธิ์เจรจาล่ะ ที่ผมห่วงคือตรงนี้ต่างหาก ผมอยากได้ยินอย่างนี้"
"เพราะฉะนั้นเวลาภาพมันออกมา-เฮ้ย เราเปิดไฟแนนซ์ให้มัน อย่างน้อยช้าหน่อย อธิบายให้ public ฟัง แต่เราได้น้ำตาลมา 5 แสน ได้ตรงนั้นๆ ผมอยากฟังอย่างนั้น แต่เท่าที่ผ่านมาวันนี้ยังไม่เคยได้ยิน"
"ถ้าถามว่าห่วงอะไร ในเบื้องต้นคือห่วงการเจรจาว่าจะไม่สมดุล เพราะทั้งหมดมันเป็นหนังจอใหญ่ที่มีสินค้าอยู่เยอะแยะ ไม่ใช่มาตัดตอนแลกกันแค่นี้ ต้องเอาทั้งหมด แล้วมาเกลี่ยให้เสร็จ ซึ่งจะต้องได้ภาพที่ชัดเจนว่า-คนดูแล้ว เออ มันได้ มองอย่างเร็วๆ ก็ยังคุ้มทุน"
"อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าอยากได้มากเลยก็คือ TCB (Trade Capacity Building) เพราะตัวนี้เขาคงไม่เรียกร้องเรา แต่เราจะเรียกร้องเขา ในทางกลับกันเราต้องเรียกให้เยอะ ไม่ใช่ว่าเราไปขอทานเขานะ TCB มันเป็นช่องที่เราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งเรามีสิทธิ์ เราต้องยื่นอันนี้กลับเข้าไป เพราะถ้าเราให้คุณไปแล้วเราก็ตายอย่างเขียด เราจะเร่งความสามารถมาแข่งกับคุณแต่ว่าเราง่อย เราให้ไม่ได้ แต่เราให้ได้ถ้าตรงนี้พัฒนา ถ้าเขาโอเคจะเข้ามาช่วย"
TCB คือความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น
"ผมอยากให้เน้นตรงนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับอะไรก็ตามที่เขาขอมา ถ้าคุณต้องการให้เราให้คุณตรงนี้ คุณก็ต้องมาทำตรงนี้ และเราก็จะได้ทำงานกันต่อไปได้ แล้วก็จะดีกับอเมริกาด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการเรียกร้องข้างเดียว และเราคิดไม่ทัน เราคิดไม่ทันเราก็เอาๆๆ สมมติ cross trade มันก็จะ-เอ้าภาษีตรงนี้ลดหน่อย ผมคิดว่ายังไม่ตรงพอ โอเคดูดี แต่ปรากฏว่ามันไม่ปิ๊ง ถ้าถามผมผมก็ต้องบอกว่าต้องมี TCB แล้วต้องลดภาษีให้ผมอีก อย่างนี้ มันจะทำให้เราแข็งขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาอธิบายต่อสาธารณะจะรู้สึกมันมั่นใจ"
ยกตัวอย่างเช่นเปิดเสรีภาคบริการในเรื่องสถาบันการเงิน
"เราต้องขอข้อแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง เจรจาเข้าไปเลย เปิดได้ แต่ต้องมีกลยุทธ์ การจะมีตรงนี้ๆ ยูต้องมี corperate กับไอ ไอถึงจะยอมเปิด มันเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพราะเรา need สร้างบริษัทที่ปรึกษาขึ้นมา ส่งคนเข้ามาพัฒนา อย่างสิงคโปร์กำหนดว่าคุณต้องจ้างคนของเขา ในเชิง management"
หมายความว่าถ้าปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วก็ต้องแลกเข้าไปให้มากที่สุด
"เราต้องเลือกให้ได้มากที่สุด เพราะนี่เป็นช่องที่เข้าได้อยู่แล้ว ถ้าเขาปฏิเสธทุกอย่าง เราก็บอกอย่างนั้นเราไม่เปิด อันนี้คือการเจรจากัน ระหว่างระดับที่ต่างกันมันมีอะไรที่เราจะทำได้ล่ะ ก็คือ TCB อันเดียว"
ที่ผ่านมาเหมือนรัฐบาลไม่มีอะไรโชว์ให้ดูว่าได้อะไรมาบ้างจากการเจรจา
"ข้อมูลนี้มันไม่ออกมา เพราะที่เขาแลกๆ มันเป็นความลับอยู่ ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผมถามผม-โห น้ำตาลสิ รออะไรเล่า แล้วก็ส่งออกกันเยอะแยะ โดนกีดกัน เราได้แค่หมื่นกว่าตัน ฟิลิปปินส์ยังได้ 5 หมื่นต่อปี ว่าไปเลย 2 แสน ก็นั่งเจรจากันสิ แต่ไม่มี เสียงไม่ได้ออกมา เราก็ไม่รู้ว่าเจรจาหรือเปล่า"
ส่วนใหญ่ก็บอกว่าลดภาษี? "ส่วนใหญ่ก็บอกว่าโอเคเขายื่น list แล้ว ข่าวที่มามีแค่ยื่น list แล้ว มีการคุยกันแล้ว แต่ยังไม่มีการพูดออกมาชัดๆ อย่างที่เราอยากจะฟัง แต่เราก็ส่งเสียงไปเรื่อยๆ ว่ามันจะต้องแบบนั้นมันจะต้องอย่างนี้"
Post FTA สำคัญกว่า
บอกว่าถ้าเปิด FTA กับอเมริกา ก็แน่นอนว่าจะต้องมีแต่ละภาคที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือถ้าใช้ศัพท์เขาก็ต้องปรับตัวมากน้อยต่างกัน
"ถ้าเป็นสินค้า ผมคิดว่ากลุ่มที่ต้องปรับคือปศุสัตว์ เนื้อสัตว์ทั้งหมด เนื้อวัว นม เพราะสหรัฐเข้มแข็ง เราต้องปรับเพื่อการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้เราอิมพอร์ตเครื่องจักรมากกว่า คงไม่มีอะไรเยอะ ไม่ซีเรียสเหมือนปศุสัตว์"
"ภาคการเงินต้องปรับตัวมาก เพราะอานุภาพทางการเงินอเมริกามันใหญ่มาก มันเทกโอเวอร์หมด ตัวนี้มันเชื่อมโยงการลงทุน เทก 51% แล้ว manage ที่กลัวกันก็คือ อาจลามปามถึงอธิปไตยทางการเงิน ก็ห่วงตรงนี้ ถ้าไม่แข็งแรงพอต้องพึ่งต่างชาติหมดก็เสร็จ ต้องดูเรื่องกฎหมาย ต้องค่อยๆ แก้ไขไปจนเราแข่งได้เราก็เปิดเต็มที่ ตัวเลขตอนนี้ที่ทางการยืนยันคือแบงก์ 10 ปี ก็โอเค เป็นระยะเวลาไม่ยาวเกินไปนัก รับได้อเมริกาน่าจะรับได้ ผมเป็นอเมริกาผมคว้าแล้ว"
"กลุ่มสินค้าเราน่าจะดี เพราะว่าเข้าตลาดได้มาก กลุ่มที่เรา export ไปเยอะๆ เราน่าจะมีโอกาสมากขึ้น เพราะภาษีลดลง แต่ทั้งกลุ่มแน่นอนมันมีบางตัวที่ sensitive พวกนี้สุดท้ายต้อง classified ได้หมด ลดช้า-เร็ว-กลาง ยังไม่ลด ต้องรอ 10 ปี เจรจากันได้ แต่รวมๆ มันก็ดีอยู่แล้ว เพราะตัวสุดท้ายที่ช้าสุดก็ยังเร็วกว่า WTOและมันต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราก็ต้องไปใช้กรอบ WTO อยู่ดี ฉะนั้นสรุปคือว่า ประตูสุดท้ายยังต้องดีกว่า WTO"
แต่ในสายตาสาธารณะก็มองว่าเราต้องเสียเปรียบแน่ ไม่อย่างนั้นอเมริกาไม่ทำ
"พูดลำบาก เวลาเราอ่าน paper บางทีอเมริกันเขาก็ประท้วงรัฐบาลเขา อย่างรถยนต์ก็โวยวาย ก็แล้วแต่ คิดว่ามันต้องมีบ้าง ผมใช้คำว่าปรับตัว สรุปว่ายังไงๆ ต้องมีบางส่วนต้องปรับตัว ไม่พ้นหรอก จะออกมาแล้วทุกคนแฮปปี้หมดมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องโดนแน่นอน แล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้า บริการนี่แหละที่จะโดนกันเยอะ ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่รู้จะออกมายังไง มากหรือน้อย บรรเทาความเสียหายไปได้เท่าไหร่ แต่ผมบอกว่าวันนี้ยังแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ข้อสรุปยังไม่เกิดเพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งสรุปว่ามันจะเป็นอย่างที่กลัว ต่อไปข้างหน้ารัฐบาลควรจะต้องหามาตรการที่จะช่วยพัฒนา"
"เรื่องที่อเมริกาเรียกร้องมา เราจะให้อะไรไปก็โดนด่าเพราะมันต้องปรับตัว อยู่เฉยๆ ตอนนี้สบายๆ ให้อะไรไปปุ๊บก็ถือว่าเยอะแล้วในแง่ของคนกลุ่มนั้น ผมพูดบ่อยๆ ว่าสุดท้ายแล้วมันต้องมาเกลี่ยกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเจรจาเป็นตัวๆ แล้วจบ ตอนเจรจาอาจเป็นแบบนั้น-ใช่ แต่สุดท้ายต้องภาพรวม ต้องมาเกลี่ยให้หมด แต่ยังไงก็ตามผมก็ยังยืนยันว่าก็ยังต้องโดน complain อยู่ดี"
"เราอาจจะสรุปเป็นภาพรวมคือ หนึ่ง เราเห็นด้วยว่าต้องมีเจรจาเปิด FTA ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันนี้ ต้องมีแน่นอน รายละเอียดก็คือรายละเอียดที่ได้พูดมา อะไรก็ตามที่ออกมาแล้ว ประสิทธิภาพในการเจรจา รวมทั้งสิ่งที่เราเรียกร้องอยากได้ มันก็ต้องไปรวมกันแล้วก็ออกมาเป็น paper พอใจไม่พอใจดูจากตรงนั้น เราก็ voice อะไรได้ทุกอย่าง ต้องรับรู้กันหมด ออกมายังไงก็ตาม คนหนึ่งอาจจะได้ คนหนึ่งอาจจะไม่ได้"
"แต่สุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ POST FTA ว่าหลังจากนี้ต่อไปเราจะทำอะไร ตรงนั้นเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ จากโจทย์ตรงนี้ และเราต้องรีบไปทำเพื่อให้อยู่ได้ต่อไป"
"เปรียบเทียบกับถ้าไม่มีมันจะเกิดอะไรขึ้น ผมยกตัวอย่าง ชัดเจนว่าวันนี้ในแง่ธุรกิจที่มองเห็นเรามีเจรจา FTA กับญี่ปุ่น รถยนต์ 3,000 ซีซี ลดภาษีทีละ 5, 5, 5 เซ็นสัญญาใน 4 ปีก็ 20 เปอร์เซ็นต์ ภาษีสรรพสามิตเหลือ 60 มันเป็นสัญญาที่ทำเฉพาะญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย เขามีสิทธิ์ลดภาษีได้อย่างนี้แหละ ตรงนี้ก็ทำให้เรา Against Japan โดยตัวมันเอง เราทำตัวเราเองแท้ๆ ถ้าหากเป็นอย่างนี้ ถ้าถามผม ยุโรปเราต้องเจรจาแน่นอน ไม่อย่างนั้นเราก็ทำให้ของเราแพงขึ้นโดยใช่เหตุ ถูกญี่ปุ่นผูกขาด แล้วศักยภาพการต่อรองเราก็ไม่สูง จริงๆ แล้วยุโรปมันยืนเฉยๆ มันรอเราไปหาด้วยซ้ำ เพราะเราต้องการยุโรปมาแข่งกับญี่ปุ่นถูกไหม สิ่งเหล่านี้ต้องเอามารวมกันทั้งหมดแล้วก็มาดูขณะนี้อาเซียน-ยุโรปเริ่มเจรจากันแล้ว"
"คนอื่นที่เจรจาสหรัฐอยู่ก็มี และเป็นคู่แข่งเราด้วย ถ้ายิ่งสำเร็จเร็วเรายิ่งเสียเปรียบด้วยซ้ำไป มาเลเซียรออยู่ ประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ ถ้าหากว่าเราช้ากว่าเขาก็เกือบจะเสียเปรียบแล้วนะ บางคนก็บอกว่าไม่เอา แต่ผมบอกว่าต้องเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำแต่ว่าต้องสมดุลนะไม่ใช่ว่าหน้ามืด"
"speed ของมันแข่งกันด้วยซ้ำไป พูดไปแล้วบางคนอาจจะฟังไม่ได้ เราก็ต้องเห็นภาพตรงกัน มันต้องเปรียบเทียบไปมา ในแนวคิดของเราก็ชัดเจน สนับสนุนเจรจา แต่ว่าเงื่อนไขต่างๆ ต้องอยู่ที่รัฐเจรจา เราให้ support ไปหมดแล้วข้อมูล เขาก็ต้องรวบรวมและเจรจาให้ออกมาสมดุลทั้งหมด ไม่มีใครได้ใครเสีย สุดท้ายก็มีแต่คนปรับตัว ทุกคนต้องปรับ"
ย้อนไปหน่อยว่า การเปิด FTA กับออสเตรเลีย หอการค้าประเมินอย่างไร
"เรื่องนี้ผมเถียงกับใครต่อใครมาเยอะเหมือนกัน ปกติเราชอบดูตัวเลข ตัวเลขออกมาเราขาดดุล แต่ถ้าลงไปให้ลึกเราขาดดุลเพราะเรา import ทองเข้ามาเยอะ จริงๆแล้วไม่ได้เกิดจาก FTA แล้วระหว่าง FTA มีกับไม่มีมัน 0 อยู่แล้วตั้งแต่ต้น มันเกิดสภาพเดียวกันอยู่แล้ว ก็อยู่ที่คนจะอธิบาย"
แล้ว FTA กับจีนล่ะ เกษตรกรได้รับผลกระทบมาก เช่น หอม, กระเทียม หายไปเลย
"ความจริงไม่ใช่ FTA มันเป็นแค่ลดภาษี 2 พิกัด ผลไม้กระทบ กระเทียมกระทบ ยอมรับ แต่เมื่อเอาตัวเลขมาดูแล้วเราได้ดุลการค้า มาจากไหน-มันสำปะหลังแผ่นเวลาเราคุยเราก็หยิบเฉพาะกระเทียมมาพูดอยู่ตลอดเวลา ทำไมไม่เอามันสำปะหลังแผ่นมาคุย ไม่แฟร์ ผมคุยกับคนที่ทำด้านนี้มันบอกดีไม่รู้จะดียังไง แต่ถ้าคุณจะพูดแต่กระเทียมผมก็ยอมแพ้คุณ เพราะมันเสียจริงๆ แต่ประเทศชาติโดยรวมได้ เพียงแต่คนกลุ่มได้มันไม่ออกมาพูด"
ประเด็นก็คือ มันกระทบเกษตรกรเป็นแสนๆ แต่คนที่ดีขึ้นคือผู้ส่งออกที่มีจำนวนไม่มาก
"อันนี้ต้องทำวิจัย เพราะคนปลูกมันสำปะหลังก็เยอะนะ"
แล้วก็ไม่มีการดูแลคนที่ได้รับผลกระทบ
"ถึงเรียนว่า FTA พอเจรจาเสร็จต้อง post ทันที ถ้าถามผมวันนี้ PRE กับPOST ผมทิ้งน้ำหนักให้ POST 75% to be fair ผมไม่ค่อยสนใจเรื่อง PRE เท่าไหร่ ผมรู้ว่าจะไปทางไหนอยู่แล้ว ทำให้ดีที่สุด ยังไงมันก็ต้องเปิด แต่กระทบแค่ไหนตรงนี้รู้แล้วต้องรีบทำ เราตั้งสมมติฐานขึ้นมาแล้ว"
ประเด็นก็คือ มันกระทบผู้บริโภค กระทบประชาชน แต่ภาคธุรกิจได้ อย่างเช่นเรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องพันธุ์พืช
"ถ้า assume ว่าเรายอมเขาหมด" พรศิลป์บอกว่าเขาก็ไม่คิดว่าต้องยอมทั้งหมดเช่นกัน
"ถ้าพูดอย่างนั้นแล้ว full stop มันก็จบ ต้องมองให้ลึก สมมติคนขายของ ผมก็ไม่ได้ผลิตเองทุกอย่าง ก็ต้องเชื่อมโยงเกษตรกี่หมื่นกี่ล้านคน อย่างน้ำตาลไม่ใช่ได้เฉพาะมิตรผล คนปลูกอ้อยกี่คน ส่วนเรื่องยาถ้าตรงนี้เขาขอมาแล้วเราห่วง ก็ protectเจรจากับเขาด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ขออะไรมาให้หมด"
ตรงนี้พรศิลป์เสนอว่า รัฐบาลควรจะตั้งองค์กรมหาชนขึ้นอย่างที่ถนัด เพราะเมื่อภาคธุรกิจส่งออกได้ดี รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น รัฐบาลก็ต้องเอาเงินที่ได้มาสร้างหน่วยงานดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เจรจาเสร็จแล้วตัวใครตัวมัน
พรศิลป์บอกว่า เขาก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องสิทธิบัตรยาบางประเด็น โดยเฉพาะมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ที่ให้รัฐบาลผลิตยาได้ถ้าขาดแคลนเดือดร้อน ควรจะต้องคงไว้ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช
"มี 4-5 ข้อที่ผมดูแล้วไม่ค่อยดี เช่น คุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา protect 20 ปี สำหรับองุ่น-ไม้ยืนต้น 25 ปี แปลกไหม เมื่อคิดค้นอะไรได้ก็กีดกันห้ามเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ 4-5 ข้อหลัก ซึ่งผมว่าประเทศไทยไม่น่าจะพร้อม เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ต้องบอกว่าเราไม่เข้า"
บอกว่าตรงนี้เขาอาจจะต่างกับ NGO ที่ยังไม่ได้สรุปว่ารัฐบาลยอมให้ "เอ็นจีโอไปสรุปแล้วว่าแย่แล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้คุยเลย แต่ถ้าถามผม ผมก็ไม่เห็นด้วย ก็ชัดเจนเรากับเอ็นจีโอคิดตรงกัน"
"เรื่องสิทธิบัตรยา มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ถ้ายกเลิกผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ล่าสุดของอเมริกาออกมา มีเขียนไว้ บอกว่าจะต้องมีการทำรายละเอียดเพิ่ม อาจไม่ยกเลิกแต่มีเงื่อนไขเพิ่มว่าผลิตได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่อาจจะห้ามบางอย่างเช่น ห้ามผลิตไปขายหรือผลิตเกินความจำเป็น อย่างนี้ก็คงต้องดูรายละเอียด แต่ถ้าไม่ให้เราทำเลยผมไม่เห็นด้วยเพราะอยู่ใน WTO อยู่แล้ว"
พรศิลป์ย้ำว่าเรื่องสำคัญก็คือ Post FTA อย่างที่เขาบอก ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบ
"ในส่วนของธุรกิจ เราต้องไปศึกษาว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ตัวอย่างเรื่องวัวนม เราก็คำนวณได้ว่านมผงขาดมันเนยจะเข้ามาแทนนมน้ำ ต้องลดภาษีเหลือ 0 ใน 20 ปี นมของเราแพงกว่าข้างนอกเท่าไหร่ สามารถหาข้อสรุปได้ว่าภายในกี่ปีเราต้องทำนมให้ถูกลงเท่าไหร่ รัฐบาลต้องมีแผน ปรับวัวนมอย่างไร วัวเนื้ออย่างไร วัวเนื้อสหรัฐเข้าแน่นอน มันถูกกว่า ดีกว่า คนอิมพอร์ตเข้ามา คนเลี้ยงวัวก็กระทบ"
"การบ้านที่จะต้องทำ ผมถึงมี Post FTA ดูสินค้าใหญ่ๆ ที่จะกระทบ จะปรับอย่างไร รัฐจะช่วยอย่างไร ต้องเอาช่องที่อเมริกาเปิดให้มาช่วยยังไง ตรงนี้ต้องปรับแน่นอน ปรับมากน้อยต้องเอามาดูเป็นเรื่องๆ"
"ประเด็นที่เราห่วงคือทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เรากลัวยาแพงขึ้น ถ้าโจทก์มันเป็นอย่างนี้เราต้องสร้างมาตรการมาดูแล ถ้าจะให้ปกป้องเราต้องคุยตรงนี้ก่อน ถ้ายังมีมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ก็สบายใจขึ้นข้อหนึ่ง สินค้าอนามัยที่สำคัญกับชีวิตคน ยาเอดส์ แอนแทรกซ์ วัณโรค ในกลุ่มนี้จะต้องมีมาตรการพิเศษ ราคาจะต้องมาดูแลว่าเราจะจัดการอย่างไรไม่ให้ถึงเวลาแล้วแพง อาจจะเปรียบเทียบตลาดโลกหรือเปรียบมาตรฐานการครองชีพคนไทย เราจนอย่างนี้ จีดีพีอย่างนี้ ยาจะต้องถูก ถ้าเป็นผมจะเสนออย่างนี้ต้องเขียนไว้ รวมถึงเครื่องมือแพทย์ เจรจาได้ต้องอย่ากลัวมัน แลกกับอะไรต้องมาว่ากัน"
แต่อเมริกาดูจะมีท่าทีแข็งมาก และคงเอาให้ได้อย่างนาฟตาหรือที่ทำ FTA กับสิงคโปร์ พรศิลป์ยอมรับว่าท่าทีของอเมริกาแข็งมาก "แต่อย่าลืมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศไทยต้องดูจากคนไทย อย่าไปหมดความมั่นใจกับคนเจรจา คุณนิตย์ก็คงพยายามทำในส่วนผมจะไม่เปรียบเทียบ คนอื่นก็คนอื่น อเมริกายื่นไม้แข็งก็ยื่นมา ถ้าถามผมต้องเอามาให้ได้ ไม่ไหวจริงๆ ทุบโต๊ะ"
"แต่ถ้าไม่ให้ต้องให้การเมืองตัดสินใจ เพราะถ้าไม่มี FTA เราก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เราจะเสียเปรียบ ผมมองว่าอเมริกาไม่มีเหตุผลจะต้าน เขาคงไม่กล้าพูดว่าจะถือโอกาสขายยาแพงๆ"
"ถ้าถามผม อันที่หนึ่ง FTA ควรมีไหม เราเห็นด้วยควรมี ควรเจรจา ชัดเจน สอง เมื่อเจรจาในภาพรวมตรงไหนไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ จะต้องปรับตัวมากน้อย ในความเห็นเราต้องมาดูแลทั้งหมด วิธีการของเราคือต้องมาศึกษารายสินค้าว่ากระทบมากน้อย ต้องหาวิธีการปรับตัวนำเสนอวิธีการตรงนี้ด้วย ไม่ใช่เราปล่อยไปเลย เพราะสมาชิกเรากระทบทั้งนั้น แต่การเจรจาเราไม่มีส่วน เรามีหน้าที่ให้ความเห็นว่าตรงไหนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เราก็สื่อผ่านไปที่รัฐ รัฐต้องตัดสินใจ เราให้ข้อมูลดีที่สุด อันไหนดี-ไม่ดีพยายามปกป้อง แต่รัฐบาลต้องดูแลหลายส่วน รวบรวมมาเจรจา ตรงนี้เราก็ได้แค่ส่งข้อมูลให้ทุกเรื่องที่เขาอยากได้"
No comments:
Post a Comment